รับทำเว็บ/SEO/Google Ads.พร้อมดูแล Click👉

ตามไปดู 5 สิ่งนี้ “น่าจะเกิดขึ้น” ในประเทศไทย ปี 2566

353

ในที่สุดเวลานี้ก็เดินทางมาถึงปี 2566 ที่ความหวาดระแวงต่อการระบาดของโควิด-19 ลดลง ไม่ต้องฉลองปีใหม่ภายใต้ข้อจำกัดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกแล้ว Five Things นำเสนอการคาดการณ์ 5 สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจริงในปี 2566 นี้ คือ 

1. ได้เลือกตั้งใหญ่ (แน่ๆ?) 

2. นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อาจไม่ใช่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

3. ไทยจะก้าวไปข้างหน้าสวนทางเศรษฐกิจโลก 

4. ปี 2566 ค่าแรงน่าจะเพิ่มขึ้น 

5. อัตราการเกิดของคนไทยยังลดลงต่อเนื่อง 

1. ได้เลือกตั้งใหญ่ (แน่ๆ?)

สิ่งที่จะนำเราไปสู่การเลือกตั้ง คือ สภาจะครบอายุในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งความเป็นห่วงก่อนหน้านี้ของหลายคนถึงภาวะสุญญากาศทางการเมืองได้ เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

แต่บทสรุปของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ….  และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเลือกตั้ง (ฉบับที่…) พ.ศ….  ว่าไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 

โดยหากนับตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศ ไทม์ไลน์จัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ 45 นับจากวันที่อายุสภาสิ้นสุดลง ทั้งนี้ วันจัดการเลือกตั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลง หากมีการยุบสภาเกิดขึ้น หรือเหตุอื่นที่ทำให้ต้องเลื่อนการจัดกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ออกไป

สำหรับกติกาในการเลือกตั้งในปี 2566 คือ ส.ส. จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นหาร 100 คติในการเลือกตั้งครั้งนี้ขอให้ทุกคน ‘เลือกพรรคที่ชอบและคนที่ใช่’ เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนเสียงของเราในสภา เพื่อประเทศชาติในวันข้างหน้า

2. นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อาจไม่ใช่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า จะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ ให้เหตุผลที่ตัดสินใจเช่นนี้ว่า วันนี้พรรคพลังประชารัฐมีการตกลงใจในการเสนอชื่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไปแล้ว จึงตัดสินใจว่าจะไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ 

การออกมาเปิดเผยเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ ยังคงอยากเดินหน้าทางการเมืองต่อ ในฐานะนักการเมือง เพื่อไปสู่เส้นทางของการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แม้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้นับวันเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เท่ากับว่า นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 หรือหลังรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ประกาศใช้ ซึ่งหมายความว่าพลเอกประยุทธ์สามารถเป็นนายกฯ ได้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2568 

เพราะอย่างไรก็ตามไทยรัฐพลัสคาดว่า ในการเลือกตั้งปี 2566 ชื่อของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อาจจะไม่ใช่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่กับเรามาเป็นเวลากว่า 8 ปีอีกแล้ว ด้วยเงื่อนไข 2 อย่างด้วยกัน 

เงื่อนไขแรก ระยะเวลาในการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการนั่งนายกฯ นั้น ทำให้สามารถนั่งนายกฯ ต่อได้เพียง 2 ปี อย่างนี้เมื่อครบวาระ ใครจะเป็นคนถัดไปที่ได้ขึ้นมาต่อ เป็นตัวแทนจากพรรคใด แล้วในปัจจุบัน พรรครวมไทยสร้างชาติยังคงวางตัวให้พลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว อย่างนี้ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อพลเอกประยุทธ์หมดวาระแล้ว ใครจะมาสานต่อเจตนารมณ์ ในเมื่อคนของพรรครวมไทยสร้างชาติได้เป็นนายกฯ หรือสุดท้ายพรรคอื่นก็จะได้นายกฯ ไป นี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการลงคะแนนของประชาชน  

เงื่อนไขที่สอง การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 คือ ต้องเป็นรายชื่อที่มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 25 คน หากมี ส.ส.เต็มสภา 500 คน พรรครวมไทยสร้างชาติจะผ่านด่านนี้ไปได้หรือไม่   

จากผลสำรวจของศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล ได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง’ ระหว่างวันที่ 17-22 ธันวาคม 2565 จากประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า โดย อันดับ 1 ร้อยละ 34.00 ระบุว่าเป็น แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 14.05 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ

สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนใน อันดับ 1 ร้อยละ 42.95 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 16.60 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 8.30 ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย อันดับ 4 ร้อยละ 6.95 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ

แม้คะแนนนิยมในตัวบุคคลของพลเอกประยุทธ์จะอยู่อันดับที่ 2 แต่จะเห็นได้ว่าคะแนนของแพทองธารทิ้งห่างจากพลเอกประยุทธ์อย่างมาก และอย่างยิ่งในส่วนของพรรคการเมืองด้วย ที่พรรคเพื่อไทยก็ยังคงครองอันดับ 1 แต่ พรรครวมไทยสร้างชาติร่วงมาอันดับที่ 4 ดูเหมือนทางด้านของกระแสนิยมจะเห็นได้ว่า พลเอกประยุทธ์ก็ทำได้ไม่ดีสักเท่าไร 

รวมถึงด้าน ส.ส.เขต ที่พรรครวมไทยสร้างชาติแม้จะดูดคนหน้าเก่า หรือบ้านเก่าของหลายพรรคมาได้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถสู้กับพรรคภูมิใจไทย ที่แม้จะไม่ได้เป็นที่นิยม ไม่ได้มีชื่อติดโพลทั้งพรรคและตัวผู้นำพรรคในอันดับต้นๆ แต่จุดแข็งของพรรคภูมิใจไทยคงจะเป็นในเรื่องของ ส.ส.เขต ที่ได้ดูดบ้านใหญ่ ส.ส.เขต ปัจจุบันมาได้อยากมากมาย อีกทั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยังประกาศกวาด ส.ส.120 ที่นั่ง ซึ่งล่าสุดมี ส.ส. ย้ายเข้ามาอยู่พรรคภูมิใจแล้วกว่า 40 คน รวมกับของเดิมที่มีอยู่แล้ว 62 คน การที่จะได้ 120 เก้าอี้ ก็อาจจะไม่ได้ไกลเกินฝัน 

การเลือกตั้งครั้งนี้เน้นไปที่การมีเขตเป็นของตัวเอง และเป็นที่นิยมของประชาชน แต่ดูแล้วพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ได้มีความโดดเด่นด้านใดเป็นพิเศษ คงต้องรอดูว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต จะสามารถงัดกับพรรคอื่นในพื้นที่ได้หรือไม่ และพลเอกประยุทธ์จะสร้างคะแนนนิยมให้พรรคได้จนสามารถพาตัวมาเป็น 1 ชื่อที่จะให้ ส.ว.250 เสียงยกมือโหวตได้หรือไม่ แต่สำหรับไทยรัฐพลัสแล้ว มองว่า เป็นเรื่องยากที่พลเอกประยุทธ์จะกลับมานั่งนายกฯ อีกสมัยในครั้งหน้า 

3. ไทยจะก้าวไปข้างหน้าสวนทางเศรษฐกิจโลก

ในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก อัตราว่างงานของไทยอยู่ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นรองแค่คูเวตที่ 1.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เศรษฐกิจหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

แม้ตอนนี้ยังไม่มีการระบุตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแน่ชัด แต่ได้มีการคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.2 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัวเพียง 6.0 เปอร์เซ็นต์ และยังคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะชะลอตัวลงไปสู่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่อาจชะลอตัวลงเนื่องจากวิกฤติค่าครองชีพ ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค สงครามการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการแพร่ระบาดแบบต่อเนื่องของโควิด-19  ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพราะประเทศขนาดใหญ่ถือเป็นหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก 

แต่กลับกันเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตสวนทางเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่าจะสามารถขยายตัวได้ 3.7 เปอร์เซ็นต์ จาก 2.8 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ พร้อมกับคาดว่าการว่างงานของไทยจะอยู่ในอัตราต่ำที่สุดในเอเชียแปซิฟิกที่ 1.0 เปอร์เซ็นต์

4. ปี 2566 ค่าแรงขึ้นแน่

หลังจากที่ในปีนี้ คณะคณะรัฐมนตรี เคาะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง กระทรวงแรงงานเสนอ มีผลวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย ค่าแรงสูงสุด 356 บาท และต่ำสุด 328 บาท 

เมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทผู้ให้ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล เผยผลสำรวจนายจ้างในไทย พร้อมปรับค่าตอบแทนในปี 2566 เพิ่ม 4.5 เปอร์เซ็นต์ ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวหลังวิกฤติโรคระบาด

โดยเป็นการสำรวจ Total Remuneration Survey (TRS) ประจำปี 2565 จัดทำขึ้นระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565 โดยมีองค์กร 636 แห่ง ใน 15 อุตสาหกรรมในประเทศไทยเข้าร่วม พบว่า การปรับค่าตอบแทนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศที่คาดว่าจะปรับขึ้น 3.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

คาดว่าจะมีอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 4.9 เปอร์เซ็นต์, 4.8 เปอร์เซ็นต์ และ 4.8 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งการคาดการณ์การปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนในครั้งนี้นับว่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติโรคระบาดที่ 5 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ การปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะทำให้เงินหมุนเวียนในมือประชาชนมากขึ้น และเพิ่มแรงกดดันให้ภาคธุรกิจ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในปีหน้าจะยังคงก้าวไปข้างหน้า เมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

5. อัตราการเกิดของคนไทยยังลดลงต่อเนื่อง 

จากตารางจะเห็นได้ว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจัยหลักที่ส่งผลทำให้คนไม่อยากมีลูกเพิ่ม เนื่องจากความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็กว่าจะไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของประเทศ โดยการที่เด็กมีอัตราการเกิดน้อยก็จะเป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจตกต่ำเข้าไปอีก เนื่องจากขาดกำลังในวัยทำงาน และพออัตราการเกิดน้อย ทำให้ไม่มีแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเท่ากับประเทศอื่น เพราะหากเทียบแล้ว คุณจะเอาเงินไปลงทุนที่พื้นที่ที่มีคนเยอะ หรือคนน้อยกว่ากัน 

ไทยรัฐพลัสคาดการณ์ว่า ในปี 2566 อัตราการเกิดจะไม่เพิ่มขึ้น และยังคงลดลงต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจในปีหน้าของไทยจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะมันแค่ดีขึ้น แต่ยังไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของเราเปลี่ยน เพราะไม่ว่าจะสวัสดิการ หรือนโยบายของรัฐ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจที่จะให้กำเนิดเด็กคนหนึ่งมาเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศไทย ที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอยากย้ายออกไปต่างแดนเพื่อหาโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น  

อ้างอิง: อัตราการเกิดปี 2565 ,อันตราการเกิด2555-2564

 

รับทำเว็บไซต์ รับทำโฆษณา Google Ads. ซื้อขายที่ดิน ขายฝาก จำนอง รับจัดหา อสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ ลงโฆษณาขายที่ดินในเว็บไซต์ รับผลิตคลิปวิดีโอลงบนยูทูป และโปรโมทโฆษณายูทูป สอบถามโทร.084-319-3689 (คุณธนิต บุญเจริญ)